เครื่องดื่มชูกำลังไทย หนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม ในหมู่ผู้ใช้แรงงานหรืออาชีพที่ต้องใช้พลังในการทำงาน คงหนีไม่พ้น “เครื่องดื่มชูกำลัง” ที่มีส่วนผสมหลักๆ คือคาเฟอีน ที่ทำหน้าที่ให้พลังงาน สร้างความรู้สึกสดชื่น เพิ่มเรี่ยวแรงให้กับผู้ดื่ม
เครื่องดื่มชูกำลังไทย ลูกค้าหลักคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
หากลองสังเกตที่ตู้แช่เครื่องดื่มตามร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ จะพบว่ามีเครื่องดื่มชูกำลังวางขายนับ 10 ยี่ห้อ แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ส่วนผสมหลักๆ จึงกลายเป็นคาเฟอีนที่ตามกฎหมายกำหนดให้ใส่คาเฟอีนได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อขวด เหมือนๆ กันไปหมด รวมถึงราคายังอยู่ในช่วง 10 บาท เท่าๆ กันด้วย และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เครื่องชูกำลังที่เราคุ้นเคยกันมีราคาเท่าๆ กัน อยู่ในช่วง 10 บาท นั่นเป็นเพราะกลุ่มเป้าหมายหลักที่ดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้
แต่อย่างไรก็ตามหากลองดูที่ตู้แช่เครื่องดื่มชูกำลังดีๆ จะพบว่าความจริงแล้วเครื่องดื่มชูกำลังในยุคนี้ กำลังเล่นเกมสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่เช่นเดียวกัน เครื่องดื่มชูกำลังจึงไม่ใช่เครื่องดื่มที่เหมือนๆ กันไปหมดทุกยี่ห้ออีกต่อไป
เครื่องดื่มชูกำลัง นอกจากคาเฟอีน มีใส่อะไรอีกบ้าง
เครื่องดื่มชูกำลังในยุคปี 2021 ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มชูกำลังที่ผสมคาเฟอีนที่ให้พลังงานแก่ร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หลายๆ ยี่ห้อยังสร้างความแตกต่างด้วยการใส่ส่วนผสมอื่นๆ เข้าไปด้วย ที่เราเห็นได้ชัดเจนเป็นอย่างแรก คือ วิตามิน เครื่องดื่มชูกำลังสูตรพื้นฐานของทุกๆ ยี่ห้อ มีการใส่วิตามินเข้าไปเป็นส่วนผสมด้วย ได้แก่
- คาราบาวแดง ผสมวิตามิน บี12
- M-150 ผสมวิตามิน บี3 บี5 บี6 และบี12
- กระทิงแดง ผสมวิตามิน บี6 และบี12
สำหรับราคาของเครื่องดื่มชูกำลังสูตรพื้นฐานมีราคาที่ 10 บาท เท่าๆ กันในทุกแบรนด์ นอกจากวิตามินแบบต่างๆ ที่เครื่องดื่มชูกำลังในสูตรพื้นฐานใส่เข้าไปนอกจากคาเฟอีนที่ให้พลังงานแล้ว ยังมีเครื่องดื่มชูกำลังในสูตรอื่นๆ ที่แตกต่างจากเครื่องดื่มชูกำลังที่เราคุ้นเคยกันมานานด้วย โดยเป็นการสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วยการผสม “สมุนไพร” ชนิดต่างๆ เข้าไปด้วย ซึ่งการผสมสมุนไพรนี้เอง กลายเป็นจุดเด่นของเครื่องดื่มชูกำลังในยุคปัจจุบัน
- M-150 สูตรผสมกระชายดำ และน้ำผึ้ง
- โสม OT (โสมเกาหลีตังกุยจับ) ผสมแอล-คาร์นิทีน และซิงค์
- โสมเกาหลีตังกุยจับ GSD ผสมโสมสกัด และน้ำผึ้ง
- โสมอินซัมพลัส เห็ดหลินจือและโสมเกาหลีสกัด
สำหรับราคาของเครื่องดื่มชูกำลังสูตรผสมสมุนไพรชนิดต่างๆ ก็มีราคาที่ 10 บาทเท่ากันในทุกแบรนด์ และยังมีราคาเท่ากับเครื่องดื่มชูกำลังสูตรพื้นฐานอีกด้วย
เครื่องดื่มชูกำลังที่จับกลุ่มลูกค้าคนทำงาน
นอกเหนือจากเครื่องดื่มชูกำลังทั้งสองแบบข้างต้นแล้ว ยังมีเครื่องดื่มชูกำลังบางยี่ห้อ ที่เลือกทำราคาที่แพงกว่า อยู่ที่ 15 บาท ต่อขวด นั่นคือเครื่องดื่มเรดดี้นั่นเอง ที่แม้จะเป็นเครื่องดื่มชูกำลังเช่นเดียวกัน แต่ก็มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากเครื่องดื่มชูกำลังอื่นๆ นั่น เพราะในความจริงแล้วตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทย ผูกติดอยู่กับลูกค้ากลุ่มหลักที่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเครื่องดื่มชูกำลังทุกๆ ยี่ห้อจึงต้องขายในราคาเท่ากันที่ 10 บาท เนื่องจากความแตกต่างของผลิตภัณฑ์มีน้อย หากขายในราคาที่ต่างกันก็จะทำให้ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่านั่นเอง ส่วนในต่างประเทศเครื่องดื่มชูกำลังไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มคนอื่นๆ ที่ดื่ม ทั้งคนทำงาน พนักงานออฟฟิศ และคนในวัยเรียน ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในต่างประเทศจึงกว้างกว่าในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามการที่เราเห็น เครื่องดื่มชูกำลัง ที่ไม่ได้ชูความเป็นเครื่องดื่มชูกำลังให้เห็นชัดๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลังที่ผสมสมุนไพร เป็นการตอกย้ำถึงภาพกระแสการรักสุขภาพที่กำลังมาแรงในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่เครื่องดื่มชูกำลังเท่านั้นที่มีการใส่ความเป็นเครื่องดื่มที่รักสุขภาพ เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเพราะยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ อีกเช่นเดียวกันที่จับกับกระแสรักสุขภาพนี้ ทั้งน้ำดื่มผสมวิตามิน และเครื่องดื่มประเภท Functional Drink